ความไม่มีอะไร

ธรรมะทั้งปวงต้องอยู่บนฐานของความไม่มีอะไร
ตัวอย่างคือ

  • พรหมวิหาร ต้องมีพื้นฐานจากความไม่มีอะไร เช่น เมตตา ต้องไม่มีอะไรอยู่เบื้องหลังเมตตานั้น เมตตาจึงจะเป็นปุเรจาริก (สม่ำเสมอถ้วนทั่วในทุก ๆ สรรพสิ่ง) อุเบกขา ความวางเฉย มันต้องถึงขนาดว่าไม่มีอะไรจะให้วาง การวางเฉยนั้นจึงจะเป็นการวางเฉยที่แท้จริง อันจะนำไปสู่ทางแห่งโลกุตตระ
  • มันต้องไม่มีอะไรค้างอยู่ในจิต หากยังมีสิ่งใดค้างอยู่ สิ่งนั้นจะเป็นต้นเหตุให้เกิดสุขทุกข์ คือเหตุสุข เหตุทุกข์ เราต้องหาทางขจัดสิ่งนั้นออกไป หรือหากขจัดออกไปไม่ได้ เราต้องทำให้มันหมดกำลังที่จะมาสร้างเหตุสุขเหตุทุกข์ได้ ถึงขนาดที่เรียกได้ว่า มีก็เหมือนไม่มี การขจัดสิ่งนั้นออกไป สามารถทำได้ด้วยคำโยนิโสมนสิการ (กำหนดหมายไว้ในใจ) ว่า กล้าสู้ความจริงได้ ๑ คือฝ่ายบู๊ของจิต ที่สามารถเผชิญความจริงที่ปรากฎในใจเราได้ทุกรูปแบบ และ เจ้าไม่มีความหมายสำหรับข้า ๑ คือฝ่ายบุ๋นของจิต ที่เห็นสิ่ง ๆ นั้นและสามารถกำราบพิษสงของสิ่งนั้นลงได้ ไม่สามารถมีกำลังที่จะมาสร้างเหตุสุข เหตุทุกข์ อีกต่อไป
    หมายเหตุประสบการณ์ หากไม่สามารถทำที่จิตได้ ให้เคลื่อนไหวกาย แล้วเอาสติกำหนดในจุดที่เคลื่อน จิตจะหลุดไปเองโดยอัตโนมัติ