ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า กราบทูลการที่พวกภิกษุผู้ยกวัตรถือ๑- ว่า “พระธรรมถึกรูปนี้ สงฆ์ยกเสียแล้วด้วยกรรมที่ประกอบด้วยธรรมแท้.” และการที่พวกภิกษุผู้ประพฤติตามพระธรรมกถึกผู้ที่สงฆ์ยกเสียแล้วถือว่า “พระอุปัชฌาย์ของพวกเรา สงฆ์ยกเสียแล้ว ด้วยกรรมซึ่งมิได้ประกอบด้วยธรรม.” และการที่พวกภิกษุผู้ประพฤติตามพระธรรมกถึก ผู้ที่สงฆ์ยกวัตรเหล่านั้น แม้อันพวกภิกษุผู้ยกวัตรห้ามอยู่ ก็ยังขืนเที่ยวตามห้อมล้อมพระธรรมกถึกนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงส่งโอวาทไปว่า “นัยว่า ภิกษุทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกัน” ถึง ๒ ครั้ง ทรงสดับว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาจะเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน.” ครั้นหนที่ ๓ ทรงสดับว่า “ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว” ดังนี้ จึงเสด็จไปสู่สำนักของเธอทั้งหลายแล้ว ตรัสโทษในการยกวัตรของพวกภิกษุผู้ยกวัตร และโทษในการไม่เห็นอาบัติของพวกภิกษุนอกนี้แล้ว ทรงอนุญาตสังฆกรรมทั้งหลายมีอุโบสถเป็นต้น ในสีมาเดียวกันที่โฆสิตารามนั่นเอง แก่เธอทั้งหลายอีกแล้ว ทรงบัญญัติวัตรในโรงฉันว่า “ภิกษุทั้งหลายพึงนั่งในแถวมีอาสนะหนึ่งๆ ในระหว่างๆ๒- ดังนี้เป็นต้น แก่เธอทั้งหลาย ผู้เกิดการแตกร้าวในสถานที่ทั้งหลาย มีโรงฉันเป็นต้น แล้วทรงสดับว่า “ถึงเดี๋ยวนี้ ภิกษุทั้งหลายก็ยังเกิดการแตกร้าวกันอยู่” จึงเสด็จไปที่โฆสิตารามนั้นแล้ว ตรัสห้ามว่า “อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้ทำการแตกร้าวกัน” ดังนี้เป็นต้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการแตกร้าว การทะเลาะ การแก่งแย่งและการวิวาทนั่น ทำความฉิบหายให้,
แท้จริง แม้นางนกลฏุกิกา๓-. อาศัยการทะเลาะกัน ยังอาจทำพระยาช้างให้ถึงความสิ้นชีวิต” ดังนี้แล้ว ตรัสลฏุกิกชาดก๔- แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงกันเถิด อย่าวิวาทกันเลย, เพราะว่า แม้นกกระจาบตั้งหลายพัน อาศัยความวิวาทกัน ได้ถึงความสิ้นชีวิต” ดังนี้แล้ว ตรัสวัฏฏกชาดก๕-
____________________________
๑- ลทธึ.
๒- ได้แก่นั่งเป็นแถว เว้นช่องว่างไว้ให้ภิกษุอื่นเข้าแทรกนั่งได้รูปหนึ่งๆ ในระหว่าง.
๓- นกไส้
๔- ขุ. ชา. ปัญจก. ๒๗/๗๓๒; อรรถกถา. ๔/๔๔๖.