๑๔. ปรับอารมณ์
อารมณ์ของพระเป็นอารมณ์ดีดี สุขสงบสบาย
มีปัญหามากระทบ พระท่านไม่สะเทือน พระมีอารมณ์ดี
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางร่างกาย โลกธรรม กฎแห่งกรรม
ดูพระท่านมีอาการสงบ เยือกเย็นไม่ทุกข์ร้อน
กับตัวเราเจอปัญหา มักร้อนใจ ดิ้นรนต่อต้าน
ทุกข์ร้อนด้วยปัญหา ขาดสติ คุมอารมณ์ไม่ได้
อารมณ์ทุกข์ร้อน เศร้าหมอง วิตก หดหู่
ยามทุกข์มาก เศร้าหมองมาก ความคิดดีดี ย่อมไม่เกิด
อารมณ์มีแต่ด้านเสีย เป็นอารมณ์ของกิเลส
เราตกเป็นทาสของกิเลส ไปใช้อารมณ์กิเลส
ตัวเราหาไม่เจอ ไม่รู้ไม่เห็นความถูกต้อง ผิดหรือถูก
กิเลสครอบงำ บัญชาให้ไปทางกิเลส
เตือนตนให้รู้สึกตัวว่ามัวหมอง ขาดสติ ขาดปัญญาดี
ให้รีบหยุดพัก เหมือนนักกีฬาขอเวลานอก
หยุดพักหายใจ แล้วเตรียมตัวใหม่ให้ถูกต้อง
ให้ยืมอารมณ์ของพระ อารมณ์ดีดี มาใส่ในอารมณ์เรา
ให้ใจเรามีอารมณ์ดี ตามแบบอารมณ์พระ
สร้างอารมณ์ดีดี ของเราให้แข็งแรงมั่นคง
มีอารมณ์พระตั้งอยู่ อารมณ์กิเลสไม่สามารถเข้ามาได้
เหมือนเราไม่มีเงินทุน จะทำการค้าขาย
เราต้องยืมเงินคนอื่นมาทำการ
อาศัยเงินคนอื่นสร้างกำไร สร้างทุนของเราให้เกิด
เราได้ดี เพราะเงินคนอื่นช่วยเหลือ
เราเริ่มต้นการปฏิบัติ ย่อมขาดเงินทุนบารมี
เราจำเป็นต้องยืม บารมีอารมณ์พระมาใช้
สร้างฐานให้มั่นคง วันหนึ่งเราจะมีทุนมาก
แก้ปัญหา แก้ธรรมได้ไม่ยาก มีกำลังมากพอ
ทางแก้ที่ถูกต้อง แก้ที่ตัวเรา หาใช่แก้ที่คนอื่น
สิ่งใดที่แก้แล้ว สิ่งนั้นยังมัวหมอง หมายความว่าเราแก้ผิด
ขาดความรอบคอบ ขาดปัญญา ขาดคุณภาพ
สิ่งใดที่แก้แล้ว ผลได้ลงตัว แจ่มใส หมายความว่าเราแก้ถูกต้อง
แก้ที่คนอื่น เพื่อให้ถูกใจเรา แก้ผิดไม่ควรคิด
แก้ที่ตัวเรา ปรับให้ดี สำนึกผิด เกิดปัญญา
ผิดที่เราเอง อย่าโทษคนอื่นผิด ทิฏฐิมานะจะมา
ให้เห็นตัวเรา รู้จักตัวเรา การปรับจะง่าย
มัวแต่มองคนอื่น สิ่งอื่น มัวแต่โทษเขาผิด
ทิฏฐิมานะ สอนให้เราเห็นแก่ตัว ว่าเราถูกเราไม่ผิด
กิเลสนำทางให้เราเดินไปหา แล้วรับอารมณ์กิเลสมาใช้
ทุกข์ร้อนหาความสงบไม่ได้ วิสัยธรรมวิบัด
นานไปจะเคยเป็นนิสัย เป็นคนสันดานบาป
คนมีบุญวาสนา มักเห็นตัวเองง่ายเข้าใจง่าย
ยามกระทบเหตุมักมีจิตสำนึก เห็นเหตุและผล
ประเมินผลปรับจิต ไม่ยอมใช้อารมณ์กิเลสมาร
ใช้อารมณ์พระเป็นที่ตั้ง มุ่งหน้าดำเนินไป
สู่จุดหมายสำเร็จผล ไม่ยากอย่างที่คิด
- Printer-friendly version
- แสดงความคิดเห็น
- 2342 reads