กฐิน

ความหมาย

กฐิน มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมายดังนี้

• กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้ กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าสะดึงก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่าจีวรเป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า สบง, ผ้าห่ม ว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อน ว่า สังฆาฏิ

• กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล ๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าที่มีผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้

• กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือ การถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบไตรมาส เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น กาลทาน คือการถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือโอกาสทำได้ยาก

• กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก ๔ เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑๐ วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้วอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บไว้ทำ เป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔

ความเป็นมาของกฐิน

ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาฝนยังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความลำบาก พระศาสดาตรัสถามถึง ความเป็นอยู่และการเดินทาง จากนั้นทรงอนุญาตให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส และภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ ๕ ประการคือ

๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา (ปกติต้องลาภิกษุด้วยกัน)

๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ

๓. ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันอาหารรวมกันเป็นหมวดหมู่)

๔. ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา (เก็บจีวรไว้ได้)

๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ

ความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น

๑. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้

๒. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา ๑ เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป

๓. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน

๔. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้

๕. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และ(ในวัดต้องมีภิกษุ)จำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป

๖. จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น

๗. เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง

อานิสงส์ของผู้ทอด

ได้นำเอาคำตอบของพระเดชพระคุณพระราชพรหมยานเถระมาลงไว้ดังนี้

ผู้ถาม : "หลวงพ่อคะ การทอดผ้าป่า กับ การทอดกฐินอย่างไหนได้อานิสงส์มากน้อยกว่ากันคะ..?"

หลวงพ่อ : "ความจริง ผ้าป่า กับ กฐินเป็นสังฆทานด้วยกันทั้งคู่นะ แต่ถ้าว่าอานิสงส์โดยเฉพาะกฐินได้มากกว่า เพราะว่ากฐินมีเวลาจำกัด จะทอดตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ แต่อานิสงส์ได้ทั้งสองฝ่าย คือ ผุ้ทอดก็ได้ พระผู้รับก็ได้ พระผุ้รับมีอำนาจคุ้มครองพระวินัยได้หลายสิกขาบท ทำให้สบายขึ้น

ต้นเหตุแห่งการทอดกฐินนี้ ก็มี นางวิสาขา เป็นคนแรก ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าท่าทรงบัญญัติการจำพรรษา เพื่อป้องกันพระไปเดินเหยียบต้นพืชต้นข้าวที่ชาวบ้านเขาปลูกไว้ใน ฤดูฝนไม่ให้เสียหาย

ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุชาวปาฐา ๓๐ รูปเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ในเวลานั้นพระสงฆ์ทั้งหลายมีผ้าจำกัดเพียง ๓ ผืนเท่านั้น เมื่อมาถึงในขณะที่นางวิสาขา เฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่พอดี เห็นพระมีผ้าสบงจีวรเปียกโชกด้วยน้ำฝนและน้ำค้าง จึงได้กราบทูลขอพรแด่พระพุทธเจ้าว่า " หลังจากออกพรรษาแล้ว ขอบรรดาประชาชนทั้งหลายมีโอกาสถวายผ้าไตรจีวร แก่คณะสงฆ์ด้วยเถิด" พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุมัติ ส่วนผ้าป่าก็เป็นสังฆทาน แต่อานิสงส์จะน้อยไปนิดหนึ่ง แต่ทั้งสองอย่างก็เป็นสังฆทานเหมือนกัน แต่เป็นสังฆทานเฉพาะกิจ กับสังฆทานไม่เฉพาะกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าป่า ผู้ให้ก็ได้อานิสงส์ ผุ้รับก็มีอานิสง์แต่เพียงแค่ใช้ เป็นอันว่าทั้งสองอย่างนี้ถือว่าอานิสงส์การทอดกฐินมากกว่าผ้าป่า แต่ว่าการทอดกฐินปีหนึ่งครั้งเดียว ผ้าป่าทอดได้หลายครั้ง อานิสงส์ผ้าป่าย่อมได้มากกว่านะ"

ผู้ถาม : "แล้วองค์กฐินที่แท้จริงเป็นอย่างไรคะ..?"

หลวงพ่อ : "องค์กฐินจริง ๆ คือ ผ้าไตร นอกนั้นเป็นบริวาร เวลากรานกฐินจริง ๆ เรากรานกันแต่ผ้า การถวายก็ไม่ยาก เรามีผ้าจีวรผืนหนึ่งหรือว่าสบงผืนหนึ่ง หรือว่าสังฆาฏิผืนหนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เขาเรียกว่า จุลกฐิน หรือจะถวายไตรจีวรครบทั้งวัด เขาเรียกว่า มหากฐิน

ฉะนั้น จะถวายมากก็ได้ ถวายน้อยก็ได้ อานิสงส์เหมือนกัน โดยเฉพาะที่วัดท่าซุง จัดเป็นกฐินสามัคคี เป็นเจ้าภาพร่วมกันทุกคน ได้อานิสงส์เท่ากันหมด

สำหรับการทอดกฐินครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านเคยเทศน์คือพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระปทุมุตตระท่านเคยเทศน์วาระหนึ่ง สมัยที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเป็น มหาทุคคตะ

คำว่า มหาทุคคตะ นี้จนมาก เป็นทาสของท่านคหบดี ได้ไปฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าว่า อานิสงส์กฐินนี้มีมาก ท่านจึงกลับไปชวนนาย แต่นายก็มอบหมายทรัพย์สมบัติให้ท่านเป็นผู้จัดการทุกอย่าง ท่านมหาทุคคตะอยากมีส่วนร่วมในทานนี้ด้วย แต่ไม่มีอะไรมีแต่เสื้อผ้าเก่า ๆ ขอตนที่มีติดตัวอยู่เพียงชุดเดียว จึงนำไปแลกที่ร้านในตลาด มีด้าย ๑ กลุ่ม เข็ม ๑ เล่ม เอามาร่วมในการทอดกฐินกับเจ้านาย เพื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล พระองค์ทรงตรัสว่า คนถวายผ้ากฐิน หรือ ร่วมในการถวายกฐินทานครั้งหนึ่ง

จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอรหันต์ก็ได้ แต่ถ้าหากว่ายังไม่ถึงพระนิพพาน เพียงใดอานิสงส์จะให้ผลแก่ท่านผู้นั้น เมื่อตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดาแล้วก็จะลงมาเป็น พระเจ้าจักรพรรดิ ปกครองโลก ๕๐๐ ชาติ เมื่อบุญน้อยลงมาจะเป็น พระมหากษัตริย์ ๕๐๐ ชาติ เป็น มหาเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ เป็น อนุเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ เป็น คหบดี ๕๐๐ ชาติ แต่คนที่ทอดผ้ากฐิน หรือว่าร่วม ในการทอดผ้ากฐินครั้งหนึ่งก็ดี บุญบารมีส่วนนี้ยังไม่ทันหมดก็ปรากฏว่า ท่านเจ้าของทานไปนิพพานก่อน"

เขตกำหนดทอดกฐิน

การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้

การทอดกฐิน

พุทธศาสนิกชนทั่วไป ย่อมถือกันว่า การทำบุญทอดกฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นกาลทาน ทำได้เพียงปีละ ๑ ครั้งและต้องทำในกำหนดเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้นถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐินบ้างแล้ว พึงปฏิบัติดังต่อไปนี้

จองกฐิน เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปมนัสการสมภารเจ้าวัดนั้น กราบเรียนแก่ท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน นี้กล่าวสำหรับวัดราษฎร์ ซึ่งราษฎรมีสิทธิจองได้ทุกวัด แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดหลวง อันมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว ทายกนั้น ครั้นกราบเรียนเจ้าอาวาสท่านแล้ว ต้องทำหนังสือยื่นต่อกองสัมฆการีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาง ครั้นคำอนุญาตตกไปถึงแล้ว จึงจะจองได้

เตรียมการ ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้ว จะทอดกฐินในวันใด ก็กำหนดให้แน่นอน แล้วกราบเรียนให้เจ้าวัดท่านทราบวันกำหนดนั้น ถ้าเป็นอย่างชนบท สมภารเจ้า วัด ก็บอกติดต่อกับชาวบ้านว่าวันนั้นว่านี้เป็นวันทอดกฐิน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาอาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผู้มาในการกฐิน ครั้นกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่มีศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี ๓ ไตร คือ องค์ครอง ๑ ไตร คู่สวดองค์ละ ๑ ไตร)

วันงาน พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น ๒ วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ถ้าไปทางบก ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น

อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล

การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้ากฐินนั้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ๓ จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผาไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

พิธีกรานกฐิน

พิธิกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือภิกษุผู้ ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ครั้งแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม ๓ จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กรานดังนี้

ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสัมฆาฎินี้ (ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปลนี้) ๓ จบ

ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์ (จีวร) เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้ ๓ จบ

ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง) เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้ ๓ จบ ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกรานพระ ๓ หนเสร้จแล้ว ตั้งนโมพร้อมกัน ๓ จบ แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงษ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้

"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" ๓ จบ (แปลว่า อาวุโส! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา)

คำว่า อาวุโส นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็น ภนฺเต ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้วให้ภิกษุทั้งปวง อนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูป ๆ ว่า "อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" ๓ จบสงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา (ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษาแก่กว่าสงฆ์ทั่งปวง ให้เปลี่ยนคำว่า ภนฺเต เป็น อาวุโส) ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือเสร้จแล้วจึงนั่งพับเพียบมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา ว่าพร้อมกันอีก ๓ จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่า อนุโมทามิ เป็น อนุโมทาม เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่ง ต่อแต่นั้นกราบพระ ๓ หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน

คำถวายผ้ากฐินอย่างมหานิกาย

อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (ว่า ๓ หน) แปลว่า "ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์"

คำถวายผ้ากฐิน อย่างธรรมยุตติกนิกาย


อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินนทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

แปลว่า "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้ากฐิน พร้อมทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย และครั้นรับแล้วขอจงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ"

สัปปุริสทาน ๕ (การให้ทานของผู้ฉลาด)

๑. ให้ด้วยศรัทธา ผู้ให้ด้วยความเชื่ออย่างมีเหตุผล ผลของการให้นี้ คือเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปร่างสัณฐานงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก

๒. ให้ด้วยความเคารพ ผู้ให้ด้วยความเคารพ ผลของการให้นี้ คือเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีบุตร ภรรยา สามี ทาส คนใช้หรือบริวาร เป็นผู้เชื่อฟังคำสั่งสอน ว่านอนสอนง่าย ไม่ขัดใจในการงานที่ดีทุกอย่าง

๓. ให้ทานตามกาล ผู้ให้ตามกาล ผลของการให้นี้ คือเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างล้นเหลือ ตามกาลหรือวัยของตน คือเจริญในปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย

๔. ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ผู้ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์อย่างแท้จริง ไม่ยึดติดหรือเสียดายหลังจากให้แล้ว ผลของการให้นี้ คือเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไป เพื่อบริโภคกามคุณ ซึ่งเป็นสมบัติที่มีอยู่ของตนอย่างมีความสุข มิใช่เป็นเพียงผู้เฝ้าทรัพย์เท่านั้น

๕. ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ผู้ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ผลของการให้นี้ คือเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ไม่เสียหายวิบัติไปด้วยภัย คือ ไฟไหม้ น้ำท่วม โจรปล้น พระราชายึดเข้าพระคลัง หรือภัยจากญาติหรือคนที่เป็นศัตรูกัน

เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว การทอดกฐินนี้ ผู้ที่เข้าใจจึงได้ปฏิบัติตามหลักสัปปุริสทาน ทั้ง ๕ เลยทีเดียว นอกจากนี้ ผู้นำบุญคือผู้เป็นเจ้าภาพ จะบริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ มีตัวอย่างในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ เรื่องบัณฑิตสามเณร พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนาว่า

อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย บางคนในโลกนี้คิดว่า เราควรให้เฉพาะของตนเท่านั้น ไม่มีประโยชน์ด้วยการชักชวนผู้อื่น แล้วให้เฉพาะตนเท่านั้น ไม่ชักชวนผู้อื่น เขาเกิดมาย่อมได้โภคสมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ

บางคนชักชวนผู้อื่น แต่ตนเองไม่ให้ เขาเกิดมา ย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้โภคสมบัติ

บางคนตนเองไม่ให้ ผู้อื่นก็ไม่ได้ชักชวน เขาเกิดมา ย่อมไม่ได้โภคสมบัติและไม่ได้บริวารสมบัติ

บางคนตนเองให้ทานด้วย ชักชวนผู้อื่นด้วย เขาเกิดมา ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติทั้งบริวารสมบัติ

ดังนั้น การทอดกฐิน จึงจัดว่าเป็นบุญพิเศษ ที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรประพฤติปฏิบัติ เพราะมีประโยชน์มากมาย คือ ทำให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติถูกต้องตามพระวินัย และได้อานิสงส์ ๕ ประการ ได้ถวายทานเพื่อสงฆ์, ถวายทานตามกาล นับว่าเป็นมงคลสำหรับชีวิต เพราะได้สั่งสมบุญบารมีที่บัณฑิตสรรเสริญ และเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้มีความมั่นคงยั่งยืนนาน

Topic: